ต้อหิน รู้ทันอาการ พร้อมวิธีรักษา ก่อนสูญเสียการมองเห็นถาวร

GUEST1649747579

สุดยอดขีดเีขียน (554)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:993
เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 12.50 น.

ต้อหิน

 

หนึ่งในประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือ การมองเห็น ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป ในทางการแพทย์ มีโรคทางตาหลายชนิดที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดน้อยลง และบางโรคอาจทำให้เราสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ หนึ่งในภัยเงียบอันตรายนั่นก็คือ ต้อหิน ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยตาต้อหินไม่อาจกลับมามองเห็นได้อีก

 

บทความนี้จะมาตอบทุกข้อสงสัยว่า ต้อหิน หรือ glaucoma คืออะไร? อาการต้อหินเป็นอย่างไร? ต้อหินเกิดจากสาเหตุใด? ต้อหิน รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง? เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทางความรู้ หากพบอาการสามารถรักษาได้โดยเร็ว

 

ต้อหินคืออะไร? มีแบบไหนบ้าง?

 


ต้อหิน คือ

ต้อหิน คือ กลุ่มโรคทางตาประเภทหนึ่ง โดยมักมีความเกี่ยวข้องกับค่าความดันภายในลูกตา โดยต้อหินคือโรคที่สร้างความเสียหายให้กับเส้นประสาทตา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มีหน้าที่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการมองเห็นจากดวงตาไปยังสมองของเรา จนอาจส่งผลให้ผู้ที่มีตาเป็นต้อหินสูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรืออาจตาบอดได้หากไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จึงถือได้ว่าต้อหินเป็นโรคที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก

 

โรคต้อหิน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ที่พบบ่อย ดังนี้ 

  1. ต้อหินชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma) คือ ประเภทของต้อหินที่พบบ่อยมากที่สุด เกิดจากการที่มุมระบายน้ำในตามีประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  2. ต้อหินชนิดมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma) คือ อาการต้อหินเฉียบพลัน โดยเกิดจากการที่น้ำเลี้ยงลูกตาเกิดการอุดตัน ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลับ หากไม่เร่งเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ อาจทำให้ตาบอดได้

 

สาเหตุของการเกิดต้อหิน ใครบ้างมีความเสี่ยง?

 

หลายคนอาจสงสัยว่าต้อหินเกิดจากอะไรได้บ้าง อย่างที่ทราบกันดีว่าสาเหตุหลักของอาการต้อหินเกิดจากความดันตาที่ผิดปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ว่าใครก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ โดยอาจเกิดจากหลายปัจจัยและความเสี่ยงต่างๆ ดังนี้

  • ความดันตามีความผิดปกติ - โดยเฉพาะการที่ค่าความดันตาสูงเกินไป จะทำให้เกิดความเสียหายกับประสาทตาได้ ความดันตาสูง เกิดจากหลายปัจจัย และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดต้อหิน
  • อายุ - โรคต้อหินมักพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้มากกว่า ดังนั้นผู้สูงอายุควรระมัดระวังและคอยตรวจสอบความปกติของดวงตาอย่างสม่ำเสมอ
  • กรรมพันธุ์ - สำหรับความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อหิน กรรมพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ หากคุณมีญาติหรือคนในครอบครัวที่มีประวัติการเป็นต้อหิน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่คุณจะเป็นต้อหินได้เช่นเดียวกัน
  • กระจกตาบาง - ผู้ที่มีกระจกตาบาง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นต้อหินได้มากขึ้นกว่าคนทั่วไป
  • ผลข้างเคียงจากโรคอื่นๆ - ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, หรือโรคหัวใจ เป็นอีกปัจจัยที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหินได้

 

อาการของโรคต้อหิน ยิ่งรู้เร็วสามารถรักษาได้ทัน

 

ต้อหิน อาการสำหรับต้อหิน หรือ glaucoma อาการของโรคอาจเกิดได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ประเภทของต้อหินที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีการตรวจเช็คสุขภาพดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการมองเห็นส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตเห็นความผิดปกติ จนการมองเห็นเกิดการเสียหายไปแล้ว โดยสัญญาณเตือนอาการของต้อหินที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

  • สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างช้าๆ โดยมักจะเริ่มจากขอบโดยรอบ และเริ่มกินพื้นที่เข้ามาสู่บริเวณใจกลางของภาพ (ต้อหิน อาการเริ่มต้น อาจเป็นที่สังเกตได้ยาก ผู้ป่วยจึงมักจะพบว่าตนเองมีอาการต้อหินในระยะหลังแล้ว) 
  • นอกจากนี้ ต้อหิน อาการอื่นๆ ที่อาจพบในกรณีที่เป็นต้อหินชนิดมุมปิด ได้แก่ ตาแดง ปวดตาอย่างรุนแรง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง หรือสูญเสียการมองเห็นเฉียบพลัน หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นไปโดยถาวรได้

 

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะต้อหิน

 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน อาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้เข้ารับการรักษา ประสาทตาของผู้ป่วยจะเกิดความเสียหายไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นส่วนที่หากถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายกลับดังเดิมได้อีก ดังนั้นผู้ป่วยต้อหินจะสูญเสียการมองเห็นไป จนทำให้ตาดวงนั้นบอดลงในที่สุด 

 

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดหากกำลังสงสัยว่าตนเองอาจเป็นต้อหิน การวินิจฉัยโรคก่อนอาการลุกลามสามารถช่วยป้องกันการเกิดอาหารแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

 

ตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินต้องทำอะไรบ้าง?

 

การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหิน จักษุแพทย์จะทำการวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างละเอียดจากประวัติของผู้ป่วยและอาการเบื้องต้น รวมถึงการตรวจวินิจฉัยดวงตาของผู้ป่วยด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ ที่สำคัญ เช่น

  • การตรวจความดันลูกตา (Tonometry) - เป็นการตรวจหาค่าความดันภายในลูกตา เพื่อตรวจสอบดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากมีความดันลูกตาสูงกว่าปกติก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหิน
  • การตรวจดูมุมตา (Gonioscopy) - เป็นตรวจหาความเสี่ยงของโรคต้อหินด้วย โดยการวัดค่าองศาความกว้างของมุมระบายของเหลวภายในดวงตา ทำให้สามารถระบุชนิดของต้อหินได้ว่าเป็นแบบมุมปิด หรือมุมเปิด
  • การตรวจจอประสาทตา (Ophthalmoscopy) - เป็นการตรวจหาความผิดปกติของดวงตาด้วยการใช้กล้องส่องดูเส้นประสาท และเส้นเลือดภายในดวงตา
  • การทดสอบลานสายตา (Visual Field Exam) - การทดสอบนี้สามารถวิเคราะห์ให้เห็นถึงขนาดความกว้างและขอบเขตของสายตาที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้

 

วิธีรักษาต้อหินมีกี่รูปแบบ?

 

การรักษาต้อหิน

 

การรักษาต้อหินในปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และระยะความรุนแรงของต้อหินในผู้ป่วยแต่ละคน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลักๆ ดังนี้

ใช้ยารักษา

วิธีแรกที่ใช้รักษาต้อหินในกรณีที่ต้อหินอยู่ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการใช้ยารักษาต้อหิน โดยเฉพาะการใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตา เพื่อเป็นการลดาการผลิตน้ำหล่อเลี้ยงลงและช่วยให้การระบายน้ำหล่อเลี้ยงสะดวกมากยิ่งขึ้น

การเลเซอร์

อีกหนึ่งวิธีสำหรับการรักษาต้อหิน โดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ในการจอรูไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายน้ำออกจากดวงตา สามารถช่วยให้ความดันตาลดลงได้มากยิ่งขึ้น

การผ่าตัด

การผ่าตัดถือเป็นวิธีรักษาต้อหินวิธีสุดท้าย หากการรักษาด้วยการใช้ยา หรือวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นต้อหินระยะสุดท้าย โดยการผ่าตัดสามารถทำได้สองลักษะณะ ได้แก่ 

  • Trabeculectomy คือการเจาะรูลงไปในตำแหน่งที่กำหนด เพื่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาออกมา ทำให้ความดันตาลดลง เป็นการชะลอและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับการมองเห็นของผู้ป่วยได้ 
  • Aqueous Shunt Surgery คือการผ่าตัดเพื่อใส่ท่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงออกจากดวงตา ในกรณีที่วิธีแรกไม่ได้ผล

 

การป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคต้อหิน

 

ต้อหินเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทุกคน และเป็นโรคที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างถาวรกับดวงตาของผู้ป่วยได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคต้อหิน ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วยวิธีป้องกันต้อหินที่สามารถทำได้ ดังนี้

  • ดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ควบคุมดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มเสี่ยง เช่น ความดันสูง และเบาหวาน
  • หมั่นตรวจเช็คสุขภาพตาโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็น ต้อหิน

 

สรุปโรคต้อหิน ภัยใกล้ตัวที่ควรรู้

 

ต้อหิน ภัยเงียบที่อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้อย่างถาวร หากไม่รู้วิธีป้องกันหรือสังเกตตัวเองอยู่เป็นประจำ ก็อาจทำให้รู้ตัวเมื่อโรคถึงระยะลุกลามแล้ว ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคต้อหินหรือมีคนในครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรทำความเข้าใจและป้องกันไว้ก่อนที่จะสายเกินไป

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา