อยากลงทุนแต่ไม่ถนัดควรเริ่มยังไงดี

Unyana

ขีดเขียนในตำนาน (803)
เด็กใหม่ (3)
เด็กใหม่ (0)
POST:1339
เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562 22.22 น.

 

การลงทุนโดยอาศัยนักลงทุนมืออาชีพมาจัดการให้นั้น เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องลงทุน หรือบางคนอาจจะพอมีความรู้ในเบื้องต้นบ้างแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการอ่านงบการเงินและไม่ค่อยได้ติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจสักเท่าไหร่ เงินออมที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาทั้งทีก็อยากจะได้มืออาชีพมาช่วยให้งอกเงยเห็นดอกผลสวยงาม แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องลงทุนไม่มีรูปแบบไหนที่ไม่มีความเสี่ยง การมีผู้ช่วยที่มีความรู้ความสามารถในด้านที่คุณไม่ถนัดมาดูแลแทนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

  1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ บลจ.

ตัวช่วยแรกสำหรับนักลงทุน โดยเราจะนำเงินให้บลจ.บริหารให้ เมื่อบลจ.จัดตั้งกองทุนและระดมทุนมาได้ จะนำกองทุนไปจดทะเบียนนิติบุคคล ทำให้แม้ว่าบลจ. จะปิดตัวลง กองทุนก็จะยังคงอยู่และสามารถย้ายไปบริหารที่ บลจ. แห่งใหม่ได้ เนื่องจากถือเป็นกองทรัพย์สินที่แยกออกจากทรัพย์สินของ บลจ. จากนั้นจะนำเงินที่ได้มาบริหารตามนโยบายที่ประกาศไว้ เช่น กองทุนตราสารทุนจะนำทรัพย์สินที่มีไปลงทุนในตราสารทุนไม่น้อยกว่า 65% หากนโยบายลงทุนนำไปลงในกองทุนตราสารหนี้ก็จะลงทุนในพวกตราสารหนี้เท่านั้น เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ และตั๋วแลกเงิน หรือกองทุนทองคำก็จะเน้นลงทุนในทองคำโดยตรงหรือลงทุนในกองทุน ETF ต่างประเทศที่ลงทุนในทองคำโดยตรงอีกที

ข้อดีของกองทุนรวมนอกจากมีนักจัดการมืออาชีพมาบริหารให้แล้ว ยังสามารถลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ต่างๆ ได้หลายตัวในจำนวนเงินไม่สูงมากได้ด้วย ซึ่งบลจ. ของไทยต่างมีกองทุนมากมายให้เลือก ทั้งนี้ผลการดำเนินการจากกองทุนจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตและเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง นอกจากนี้ยังถือเป็นวงในที่เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ได้มากกว่าอีกด้วย วิธีบริหารงานก็อาศัยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีในมือและทราบข่าวคราวทั้งหลายได้อย่างรวดเร็ว แล้วพิจารณาปัจจัยพื้นฐานกับแนวทางด้านเทคนิค

2.      กองทุนส่วนบุคคล

ตัวช่วยที่สองคือการให้บริษัทจัดการเป็นผู้นำเงินไปลงทุนให้ โดยผู้ลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ นโยบาย และความเสี่ยงได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ลงทุนเอง ซึ่งประเภทนี้ตัวนักลงทุนต้องมีเงินลงทุนจำนวนมาก ประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไปเลยทีเดียว โดยกองทุนส่วนบุคคลนี้ต่างจากกองทุนรวมตรงที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่แยกออกมาจากบลจ. และคุณสมบัติของผู้ที่สามารถลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลก็ได้ทั้งบุคคลทั่วไป คณะบุคคล และนิติบุคคล

3.      บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน หรือ บลน.

บลน. ไม่ได้บริหารเงินให้กับนักลงทุนโดยตรงแต่จะเป็นผู้ช่วยจัดระบบเงินออม แนะนำการซื้อขายหน่วยลงทุนของทุก บลจ. ให้  วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ และคอยอำนวยความสะดวกเรื่องการซื้อขาย นอกจากนี้ยังช่วยติดตามพอร์ตการลงทุนให้อย่างใกล้ชิด อาจรวมไปถึงบริการจัดพอร์ตและคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของนักลงทุนแต่ละคน

          สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่มีเงินเย็นในมือ การนำออกมาลงทุนถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ก็เพื่อให้เงินต้นผลิดอกออกผล สร้างความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของเงิน ซึ่งก็มีตัวช่วยที่เชี่ยวชาญอยู่มากมายที่พร้อมจะช่วยจัดการทรัพย์สินของเราให้ได้รับผลประโยชน์กลับมาอย่างคุ้มค่าและมีรูปแบบการจัดการที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด

 

 

 

 

           

 

 

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา