โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน รู้ตัวก่อนได้ง่าย ๆ ด้วยการตรวจ ABI

GUEST1649747579

ขีดเขียนดีเด่น (367)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:690
เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565 15.00 น.

ตรวจ ABI

โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน หรือโรคหลอดเลือดแดงตีบตัน เป็นภาวะที่มีตะกรัน (Atherosclerotic Plaque) ตะกอน หรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ กีดขวางทางไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น

อันตรายจากการที่เลือดไหลเวียนไม่ดีคืออวัยวะอาจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ ทำงานผิดปกติไปหรือไม่สามารถทำงานได้เลย โดยการอุดตันในหลอดเลือดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรือเส้นเลือดใหญ่ที่ขา เป็นต้น

การตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงอุดตันมีวิธีตรวจหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการตราวจไขมันในเลือด หรือการวัดความดันที่ขาและแขนพร้อมกันก็สามารถเป็นตัวบ่งชี้ของความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดได้ทั้งสิ้น


ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักการตรวจ ABI คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน รวมถึงแนวทางการรักษาและวิธีป้องกันโรคอันตรายอย่างหลอดเลือดแดงอุดตัน

 

รู้จักโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease)

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease) เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้เป็นปกติจากสิ่งกีดขวางในหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นไขมันเกาะผนังหลอดเลือด เม็ดเลือดแดงแข็งตัว หรือการรวมตัวของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ได้น้อยลง 

หากเป็นที่ขาก็จะทำให้ปวดขา ปวดเท้า หรือภาวะเนื้อตายจนต้องตัดขาตัดเท้าทิ้ง หรือหากอุดตันที่หัวใจและสมองก็ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบตันได้

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค

สาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันคือการมีบางอย่างอุดตันในหลอดเลือด โดยสาเหตุของการอุดตันนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) ที่พาคอเรสเตอรอลลอยตัวและไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันส่วนใหญ่จึงมักตรวจไขมันในเลือดและพบภาวะไขมันในเลือดสูงไปด้วยนั่นเอง

 

อาการเป็นอย่างไร

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี อวัยวะมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอจึงทำให้อวัยวะนั้น ๆ แสดงสัญญาณความผิดปกติออกมา ถ้าการอุดตันเกิดที่เส้นเลือดใหญ่ที่ขา ก็จะมีอาการขาชา ปวดขา ขาอ่อนแรง เวลาเกิดบาดแผลที่ขามักจะหายช้ากว่าปกติ แต่ถ้าการอุดตันเกิดที่หัวใจหรือสมองก็มักจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

หากพบอาการดังกล่าวไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันเป็นโรคอันตรายและมักจะนำโรคอื่น ๆ ตามมาด้วยอย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงอุดตันจึงสำคัญมาก และหนึ่งในวิธีตรวจคัดกรองโรคที่สามารถทำได้ง่าย ได้ผลเร็ว ไม่เจ็บตัวคือการตรวจ ABI นั่นเอง

 

การตรวจ ABI (Ankle-Brachial Index)

ankle brachial index คือ

การตรวจ ABI หรือ Ankle Brachial Index คือ หนึ่งในวิธีคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันบริเวณเส้นเลือดใหญ่ที่ขาและแขน โดยจะทำการวัดความดันที่ขาและแขนพร้อม ๆ กัน และนำผลการตรวจ ABI ที่ได้มาเปรียบเทียบกันเพื่อดูประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดและความแข็งแรงของเส้นเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

 

ประโยชน์ของการตรวจ ABI

 

  • เป็นวิธีที่สามารถนำมาตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ 
  • ค่าที่ได้จากการตรวจ ABI สามารถนำมาประเมินระดับความรุนแรงของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
  • สามารถนำผลการตรวจ ABI มาใช้พิจารณาความเสี่ยงของการเกิดโรคอันตรายอย่างโรคหัวใจและโรคสมอง ที่สามารถทำให้เกิดอัมพาตหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • การตรวจ ABI ทำให้สามารถประเมินผล และติดตามผลการรักษาได้ง่าย ๆ 

 

ใครบ้างที่ควรตรวจ ABI

ใครบ้างที่ควรตรวจ ABI

การตรวจ ABI เป็นวิธีตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงอุดตันที่สามารถทำได้ง่าย เพราะเป็นเพียงแค่การวัดความดันโลหิตที่แขนและขาเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นไปได้ในการตรวจสุขภาพก็ควรจะเลือกตรวจ ABI ด้วย

นอกจากนี้หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงก็ควรเข้ารับการตรวจ ABI เพื่อคัดกรองโรค หากสามารถพบรอยโรคได้เร็วก็จะมีโอกาสรักษาได้ง่ายกว่า โดยผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ ABI มีดังนี้

 

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงอุดตันสูงกว่า 20% 
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง 
  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 25 หรือโรคอ้วน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่สูบบุหรี่มานานกว่า 10 ปี
  • ผู้ที่มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน เช่น แขนขาชา อ่อนแรง ปวดแขนขา สีผิวขาแต่ละข้างไม่เท่ากัน (จากอาการซีด) เป็นแผลแล้วแผลหายช้ากว่าปกติ

 

การเตรียมตัวก่อนตรวจ ABI

การตรวจ ABI เป็นเพียงการตรวจความดันโลหิตที่บริเวณแขนและข้อเท้าในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่แตกต่างจากการวัดความดันโลหิตทั่วไป ผู้ป่วยจึงไม่ต้องมีการเตรียมตัวก่อนตรวจ ABI สามารถรับประทานอาหารและทำกิจกรรมได้ปกติ

หากมียาที่ใช้ประจำก็สามารถแจ้งแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจได้ เพราะยาบางชนิดอาจมีผลต่อความดันเลือด เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินผลตรวจ ABI ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

 

ขั้นตอนการตรวจ ABI มีอะไรบ้าง

ขั้นตอนการตรวจ ABI

 

  1. ก่อนเข้ารับการตรวจ ABI ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดอาหาร สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย หากมียารับประทานประจำสามารถรับประทานได้ตามปกติ (แต่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนตรวจ)
  2. แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียง โดยที่ระดับแขนและขาอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ
  3. แพทย์จะติดเครื่องมือวัดความดันโลหิตที่แขนและข้อเท้าทั้งสองข้าง และทำการวัดความดันโลหิตพร้อมกันด้วยเครื่อง ABI ระหว่างการตรวจผู้ป่วยไม่ควรขยับตัวหรือพูดคุย เพราะอาจทำให้ค่าความดันที่วัดได้ไม่คงที่ ทำให้ต้องวัดซ้ำ
  4. เมื่อตรวจเสร็จผู้ป่วยสามารถรอผลตรวจได้ทันที

 

*หากผู้ป่วยรู้สึกถึงความผิดปกติใด ๆ ระหว่างการตรวจ ABI ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบโดยทันที

*การตรวจ ABI ไม่สามารถตรวจได้ในผู้ป่วยที่ใส่เหล็กดามที่แขนหรือขา

 

การแปรผลการตรวจ ABI

เครื่อง ABI จะแปรผลตรวจด้วยการนำค่าความดันที่วัดได้จากข้อเท้าและแขนทั้งสองข้างมาคำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ ดังนั้นค่า ABI ที่ได้จากเครื่อง ABI จะแสดงออกมาเป็นตัวเลขและตัวเลขนั้นสามารถนำมาเทียบกับเกณฑ์คัดกรองโรคได้ 

โดยค่าที่ได้จากการตรวจ ABI คือค่าสัดส่วนของความดันเส้นเลือดที่ข้อเท้าและข้อแขน (Ankle – Brachial Ratio) สามารถอ่านผลตรวจได้ดังนี้

 

  • Ankle – Brachial Ratio > 0.9 = อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • Ankle – Brachial Ratio น้อยกว่า 0.9 = มีการตีบตันหลอดเลือดที่ขา
  • Ankle – Brachial Ratio น้อยกว่า 0.6 = มีการตีบตันหลอดเลือดที่ขาและมีอาการขาดเลือดที่ขา
  • Ankle – Brachial Ratio น้อยกว่า 0.5 = มีการตีบตันหลอดเลือดที่ขาระดับปานกลาง
  • Ankle – Brachial Ratio น้อยกว่า 0.3 = มีการตีบตันหลอดเลือดที่ขารุนแรง
  • Ankle – Brachial Ratio น้อยกว่า 0.26 = มีการตีบตันหลอดเลือดที่ขารุนแรงและขาดเลือด 
  • Ankle – Brachial Ratio น้อยกว่า 0.2 = เลือดไม่ไหวเวียนจนทำให้เกิดเนื้อตาย

 

แนวทางรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

รักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

หากผลตรวจ ABI บ่งชี้ถึงโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน ในทางการแพทย์มีแนวทางการรักษาอยู่ 2 วิธี ดังนี้

 

การใช้ยารักษา

หากการอุดตันในหลอดเลือดแดงไม่มาก เลือดยังพอไหลเวียนได้ และค่า ABI ออกมาค่อนข้างสูง แพทย์อาจใช้วิธีรักษาด้วยยากับผู้ป่วย ยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดแดงอุดตันสามารถใช้ควบคู่กับยารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิตอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนได้

 

การผ่าตัด

หากโรคหลอดเลือดแดงอุดตันอยู่ในระดับรุนแรง การใช้ยาไม่สามารถเพิ่มหรือประคองค่า ABI ได้อีกต่อไปแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อเปิดทางในหลอดเลือดให้เลือดสามารถไหลเวียนไปได้

 

  • การผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) เป็นวิธีการขยายหลอดเลือดโดยใช้บอลลูนและขดลวดใส่เข้าไปในหลอดเลือดเพื่อขยายเส้นทางการไหลเวียนที่ถูกอุดตันจากไขมันหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ให้ไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • การใช้ยาละลายลิ่มเลือด กรณีหากสาเหตุการอุดตันมาจากลิ่มเลือด สามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าไปที่หลอดเลือดที่ถูกลิ่มเลือดอุดตัน เมื่อลิ่มเลือดละลายก็จะทำให้เลือดสามารถกลับมาไหลเวียนได้ดีอีกครั้ง

 

วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

ออกกำลังกายป้องกันโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เพื่อเป็นกันป้องกันที่ต้นเหตุ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

 

  • งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย
  • รักษาระดับน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ 
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีคอเรสเตอรอลและไขมันเลวมาก ๆ 
  • หมั่นสังเกตุสุขภาพร่างกายตนเองเป็นประจำ หากพบอาการที่เข้าข่ายโรคหลอดเลือดอุดตันควรเข้าพบแพทย์ และตรวจ ABI เพื่อคัดกรองโรค

 

ข้อสรุป

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวที่สามารถตรวจพบได้ง่ายเพียงตรวจ ABI หรือการวัดความดันที่ขาและแขน ดังนั้นในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ สามารถเข้ารับการตรวจ ABI ได้ง่าย ๆ ตรวจเจอก่อน รักษาง่ายกว่า

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา