ปวดหัวจนทรมาน ลองใช้ 6 วิธีแก้ปวดหัวอย่างง่ายด้วยตัวเอง

GUEST1649747579

ขีดเขียนดีเด่น (368)
เด็กใหม่ (0)
เด็กใหม่ (0)
POST:691
เมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 18.49 น.

วิธีแก้ปวดหัว

อาการปวดหัวที่ใครหลาย ๆ คนก็คุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นปวดหัวไมเกรน ปวดหัวจากความดันโลหิตสูง ปวดหัวจากความเครียด ปวดหัวจากไซนัส ปวดหัวคลัสเตอร์ หรือปวดหัวจากความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัวแบบไหนก็ล้วนสร้างความลำบาก และความรำคาญใจแก่เรากันทั้งนั้น

และเพื่อที่เราจะสามารถอยู่กับอาการปวดหัวเหล่านี้ได้อย่างไม่ทรมานมากนัก จึงมีวิธีแก้ปวดหัว หรือการบรรเทาอาการปวดหัว ด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำขิง การนวด หรือการประคบเย็น

 

ปวดหัวมีกี่แบบ อะไรบ้าง

อาการปวดหัวล้วนมีสาเหตุและมีที่มา ซึ่งการที่เราจะแก้อาการปวดหัวได้นั้น ส่วนนึงก็ต้องแก้ที่สาเหตุหรือที่มานั้น ๆ ด้วย และเพื่อที่เราจะสามารถหาวิธีแก้อาการปวดหัวได้อย่างตรงจุด เราจึงควรที่จะรู้จักอาการปวดหัวในแต่ละแบบกันก่อน โดยอาการปวดหัวจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ

ปวดหัวมีกี่แบบ อะไรบ้าง

อาการปวดหัวชนิดไม่รุนแรง

 

  • ปวดหัวจากความเครียด

 

อาการปวดหัวจากความเครียดจะมีอาการปวดเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ปวดบีบ ๆ คล้ายกับมีบ้างอย่างรัดรอบศีรษะ และอาจมีอาการเจ็บแปลบที่หนังศีรษะ ปวดลามมาที่กระบอกตา โดยสาเหตุที่เกิดอาการปวดหัวนั้นมาจากความเครียด ความหิว อ่อนเพลีย หรืออดนอน จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบศีรษะเกิดการเกร็งตัว

 

  • ปวดหัวไมเกรน

 

อาการปวดหัวจากไมเกรนจะมีอาการปวดปานกลางจนถึงมาก ซึ่งนอกจากอาการปวดหัวแล้ว ยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการผิดปกติทางการมองเห็นนำมาก่อนที่จะเกิดอาการปวดหัว โดยสาเหตุที่เกิดอาการปวดหัวจากไมเกรนนั้นมาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ความเครียด ทานอาหารไม่ตรงเวลา ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป

 

  • ปวดหัวคลัสเตอร์

 

อาการปวดหัวคลัสเตอร์จะมีอาการปวดอย่างรุนแรงข้างเดียว ปวดแปลบ ๆ บริเวณขมับ หรือกระบอกตาข้างเดียว และในบางคนอาจมีอาการเหงื่อออก น้ำมูกไหล และรูม่านตาหด ร่วมอยู่ด้วย โดยสาเหตุที่เกิดอาการปวดหัวคลัสเตอร์นั้นมาจากการเดินทาง การขึ้นที่สูง หรือการได้รับยากลุ่มไนเตรต

 

อาการปวดหัวรุนแรง

 

  • ปวดหัวเรื้อรัง กินยาแล้วไม่ดีขึ้น

 

อาการปวดหัวเรื้อรังเป็นอาการปวดที่จะมีความถี่เกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน โดยที่มักจะมีอาการปวดติดต่อกันนานอย่างน้อย 3 เดือน โดยอาการปวดหัวเรื้อรังนั้นอาจเกิดจากสาเหตุของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง

 

  • ปวดหัวเฉียบพลัน รุนแรง

 

อาการปวดหัวอย่างรุนแรงโดยเฉียบพลันหรือทันทีทันใด อาจมีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองตีบหรือหลอดเลือดในสมองแตก

 

  • ปวดหัวจนต้องตื่นกลางดึก

 

อาการปวดหัวจนทำให้ตื่นกลางดึกนั้น นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความเครียดแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดเนื้องอกในสมองอีกด้วย

 

  • ปวดหัวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ

 

อาการปวดหัวที่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย เช่น มองเห็นภาพซ้อน แขนหรือขาขยับไม่ได้ เป็นลมหมดสติ หรือหน้าเบี้ยว ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ว่าอาการปวดหัวในแบบนี้นั้นมาจากสมอง

 

วิธีแก้ปวดหัวด้วยตัวเอง

โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีอาการปวดหัว เราก็มักจะใช้วิธีแก้ปวดหัวด้วยการทานยาแก้ปวด แต่การใช้วิธีทานยานั้นอาจไม่ส่งผลดีต่อร่างกายเท่าไหร่นัก ซึ่งในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีแก้ปวดหัวง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองกัน

 

1. จิบน้ำขิงอุ่น ๆ รักษาอาการปวด

การดื่มน้ำขิงเพื่อรักษาอาการปวดนั้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน โดยใช้วิธีการจิบน้ำขิงอุ่น ๆ ซึ่งการดื่มน้ำขิงนั้นสามารถช่วยลดการอักเสบ ลดอาการปวดในร่างกาย ลดการสร้างสาร Prostiglandins ลดอาการเวียนหัว และยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในโรคไมเกรนอีกด้วย

จิบน้ำขิงอุ่น ๆ รักษาอาการปวด

 

2. บรรเทาอาการปวดหัวด้วยยาหอม หรือน้ำมันหอมระเหย

การบรรเทาอาการปวดหัวด้วยยาหอม หรือน้ำมันหอมระเหย เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ผู้ที่มีอาการปวดหัวจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีอาการปวดหัวจากความเครียด และผู้ที่มีอาการปวดหัวจากไซนัส โดยการใช้ยาหอมนั้นนิยมนำมาผสมกับน้ำร้อนเพื่อดื่ม และน้ำมันหอมระเหยนั้นนิยมนำมาสูดดม เช่น น้ำมันลาเวนเดอร์ น้ำมันเปปเปอร์มินต์ และน้ำมันยูคาลิปตัส ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลาย และคลายจากอาการปวดหัว

บรรเทาอาการปวดหัวด้วยยาหอม หรือน้ำมันหอมระเหย

 

3. ดื่มน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย

การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายก็เป็นอีกวิธีแก้ปวดหัวเช่นกัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน และผู้ที่มีอาการปวดหัวจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือทานอาหารที่มีปริมาณน้ำเยอะ เช่น แตงโม และส้ม ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดน้ำ ที่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว

ดื่มน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย

 

4. นวดกดจุดผ่อนคลายอาการปวด

การนวดกดจุดเพื่อผ่อนคลายอาการปวด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวจากความเครียด หรือปวดหัวจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยการนวดจะนวดบริเวณคอ ไหล่ และขมับ ใช้เวลานวดประมาณ 2-3 นาที ซึ่งการนวดผ่อนคลายอาการปวดจะช่วยลดอาการปวดเมื่อย กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และยังทำให้ผ่อนคลายอีกด้วย

นวดกดจุดผ่อนคลายอาการปวด

 

5. การประคบเย็นแก้ปวดศีรษะ

การประคบเย็นเพื่อแก้อาการปวดศีรษะ เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน สามารถใช้เป็นเจลเย็น หรือนำน้ำแข็งมาห่อด้วยผ้าสะอาดก็ได้ แล้วนำมาประคบบริเวณศีรษะ และลำคอ โดยประคบเป็นเวลา 15 นาที ซึ่งการประคบเย็นจะช่วยลดการอักเสบ ชะลอกระแสประสาท และชะลอการไหลเวียนของเลือด

การประคบเย็นแก้ปวดศีรษะ

 

6. นอนพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกาย

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวในทุกแบบ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน โดยการพักผ่อนอย่างเพียงพอควรที่จะนอน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรนอนต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และไม่ควรนอนมากเกินกว่า 9 ชั่วโมง ซึ่งการนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการปวดหัวได้

นอนพักผ่อนฟื้นฟูร่างกาย

 

ปวดหัวรุนแรง เรื้อรัง อาจต้องพบแพทย์

ในกรณีที่มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และเป็นมานานเรื้อรัง ซึ่งหากมีอาการดังนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที 

 

  • ปวดหัวรุนแรงขึ้นมาทันทีทันใด
  • ปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • ปวดหัว และมีอาการคอแข็ง และมีไข้ร่วมอยู่ด้วย
  • ปวดหัวในผู้ที่ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  • ปวดหัว พร้อมกับมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทร่วมอยู่ด้วย

 

โดยแพทย์จะมีการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด และตรวจเอกซเรย์ ซึ่งจะมีทั้งการเอกซเรย์กะโหลกศีรษะแบบธรรมดาเพื่อตรวจดูโพรงไซนัส และการส่งตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งจะมีความละเอียดที่มากกว่า

 

วิธีแก้ปวดหัวทางการแพทย์

ถ้าหากใช้วิธีแก้ปวดหัวด้วยตัวเองแล้วไม่เห็นผล หรือให้ผลลัพธ์ที่ไม่รวดเร็วตามที่ต้องการ เราก็อาจต้องใช้วิธีแก้ปวดหัวทางการแพทย์แทน โดยวิธีแก้ปวดหัวทางการแพทย์จะมีอยู่ 4 วิธีหลัก ๆ ดังนี้

 

1. การฝังเข็มรักษาอาการปวดหัว

การรักษาอาการปวดหัวด้วยการฝังเข็มนั้นเป็นศาสตร์จีน ซึ่งควรทำการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การฝังเข็มสามารถช่วยแก้อาการปวดหัวไมเกรนได้เทียบเท่ากับการทานยา นอกจากได้ผลดีแล้วยังปลอดภัยกว่าการใช้ยากันชักที่ใช้ในการรักษาไมเกรนอีกด้วย โดยการรักษาด้วยการฝังเข็มนั้น ต้องใช้ความต่อเนื่องในการรักษา จำนวนครั้งในการรักษาจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานร่างกายของแต่ละคน

การฝังเข็มรักษาอาการปวดหัว

 

2. ฉีดโบท็อกซ์แก้ปวดหัวไมเกรน

การฉีดโบท็อกซ์เพื่อแก้อาการปวดหัวไมเกรนนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถลดความถี่ในการเกิดอาการ และลดความรุนแรงในอาการปวดหัวลงได้ โดยแพทย์จะทำการฉีดโบท็อกซ์รอบ ๆ ศีรษะจำนวน 31 จุด และโบท็อกซ์ก็จะเข้าไปยับยั้งปลายประสาทที่จะมีการส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองที่ต่อกับกล้ามเนื้อ จึงทำให้กล้ามเนื้อที่เกร็งตัวอยู่นั้นคลายลง

ฉีดโบท็อกซ์แก้ปวดหัวไมเกรน

 

3. ทานยาแก้ปวดหัว

ยาทานสำหรับแก้อาการปวดหัว จะมีการแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

 

  1. ยา Paracetamol เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไม่มาก ซึ่งไม่ควรรับประทานยานี้มากกว่า 6 เม็ดต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 – 7 วัน เนื่องจากอาจทำให้ตับทำงานผิดปกติได้
  2. ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวเล็กน้อยจนถึงปานกลาง โดยยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ Ibuprofen , Mefenamic acid และ Naproxen ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด การทำงานของไตผิดปกติ และผู้ที่เป็นแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรใช้อย่างระมัดระวัง
  3. ยาแก้ปวดกลุ่ม Triptan ได้แก่ Sumatriptan และ Eletriptan เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ในผู้ที่ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และขา ควรเว้นระยะการทานยาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และไม่ควรทานต่อเนื่องเกิน 10 เม็ดต่อเดือน
  4. ยาแก้ปวดที่มีการผสมระหว่าง Ergotamine และ Caffeine เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรนเฉียบพลัน ไม่ควรทานยามากกว่า 6 เม็ดต่อวัน หรือ 10 เม็ดต่อสัปดาห์ ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ควรใช้อย่างระมัดระวัง
  5. ยาแก้ปวดในกลุ่มของฝิ่น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวปานกลางจนถึงรุนแรง โดยผลข้างเคียงที่จะเจอได้จากยากลุ่มนี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ง่วงซึม มึนหัว กดการหายใจ ในผู้ที่มีประวัติเป็นลมชัก มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ควรใช้อย่างระมัดระวัง

 

ทานยาแก้ปวดหัว

 

4. การผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดหัวนั้น นิยมใช้ในผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งการผ่าตัดนั้นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ แต่ก็ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดว่าการผ่าตัดสามารถรักษาได้อย่างหายขาด โดยการผ่าตัดนั้นจะเป็นการผ่าเอาเนื้อเยื่อบริเวณผิวกะโหลกบางส่วนที่แพทย์เห็นว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดไมเกรนออก

การผ่าตัด

 

ข้อสรุป

อาการปวดหัวที่สร้างความรบกวนเหล่านี้ล้วนมีวิธีต่าง ๆ ในการแก้ไขเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิธีแก้ปวดหัวที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาให้เป็นผลเสียต่อตับ หรือจะเป็นวิธีแก้ปวดหัวทางการแพทย์ที่ให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและรวดเร็วกว่า

โพสตอบ

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา