อาการปัสสาวะเล็ด แก้ได้ถ้าแก้ให้ถูกจุด
ปัสสาวะเล็ดเป็นปัญหาต่อสุขอนามัย ความชื้นในร่มผ้า และยังเป็นปัสสาวะซึ่งไม่ใช่น้ำสะอาด จะส่งผลให้เกิดอาการคันในร่มผ้า นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ และความมั่นใจ เพราะรอยเปื้อนบริเวณเป้ากางเกงย่อมเป็นเป้าสายตา ทำให้คนซุบซิบนินทาได้
แต่ใคร ๆ ก็คงไม่อยากเจอปัญหาฉี่เล็ด แต่มันเป็นภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปัสสาวะเล็ด ว่ามีลักษณะแบบไหน ปัสสาวะเล็ดเกิดจากอะไร และสามารถรักษาได้อย่างไร เพราะอาการปัสสาวะเล็ดสามารถแก้ได้ หากเข้าใจสาเหตุและทำการแก้ให้ถูกจุด
ปัสสาวะเล็ด คือ
ปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่ตรงตามชื่อของมัน คือ มีปัสสาวะเล็ด หรือที่เรียกว่าฉี่เล็ดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง ซึ่งมันเป็นอาการที่ไท่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ หรือไม่กลั้นปัสสาวะนานเกินไปจนกลั้นไม่อยู่ โดยส่วนมากสาเหตุที่ไปเร่งเร้าให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดก็จะมี การไอ, การจาม, การหัวเราะ, การออกกำลังกาย หรือขณะยกของที่มีน้ำหนักมาก โดยพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่สวนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
ปัสสาวะเล็ดมีสาเหตุมาจากอะไร
สาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ดนั้นเกิดได้หลายอย่าง ก่อนที่จะไปดูวิธีแก้ปัสสาวะเล็ด เราควรเข้าใจถึงสาเหตุของมันก่อน เพื่อจะได้สามารถแก้ไขได้ถูกจุด โดยสาเหตุของปัสสาวะเล็ด หรือฉี่เล็ด มีดังนี้
- เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือภาวะต่อมลูกหมากโตเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้มีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมากจนนำไปสู่อาการปัสสาวะเล็ดโดยไม่รู้ตัว
- ผู้สูงอายุที่สมรรถภาพทางร่างกายถดถอยลง ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพลง รวมไปถึงระบบขับถ่าย ทำให้การควบคุม หรือการกลั้นปัสสาวะแย่ลง ทำให้ปัสสาวะเล็ดได้
- ผลจากตัวยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ก็ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้เช่นกัน
- การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท ก็เป็นอีกสาเหตุทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือโรคทางระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถคุมการปัสสาวะเล็ดได้
- การกลั้นปัสสาวะนาน ๆ จนถึงจุดที่ไม่สามารถกลั้นได้ ก็สามารถทำให้ปัสสาวะเล็ดได้
- การระคายเคืองของกระเพาะปัสสาวะ จะไปกระตุ้นให้ท่อปัสสาวะเปิด นำไปสู่การฉี่เล็ด ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มอย่าง น้ำอัดลม, ชา หรือกาแฟ จะไปทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง
- น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นจะไปสร้างแรงบีบต่อกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ด
- ค่าความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าความดันภายในท่อปัสสาวะที่ปิดอยู่ ส่งผลให้มีน้ำปัสสาวะเล็ดออกมาก
- กระเพาะปัสสาวะที่มีรูรั่ว จะทำให้ไม่สามารถเก็บปัสสาวะได้ ทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดบ่อยครั้ง
สาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ดผู้หญิง
- ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ส่งผลให้เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดผู้หญิง
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ และคลอดบุตร หรืออายุมากขึ้น ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเล็ด
สำหรับอาการปัสสาวะเล็ดสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ส่งผลให้มีฉี่เล็ดออกมา แต่ถ้าอธิบายให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น อาการปัสสาวะเล็ดนั้นเป็นอาการที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และคอของกระเพาะปัสสาวะขาดแรงพยุง ทำให้ท่อปัสสาวะปิดไม่สนิท ส่งผลให้มีปัสสาวะเล็ดออกมา
ซึ่งหากมีอาการปวดปัสสาวะแต่ไม่ได้ไปเข้าห้องน้ำ และพยายามกลั้นเอาไว้ สิ่งนี้จะไปกระตุ้นทำให้เกิดปัสสาวะเล็ด นอกจากนี้ขณะที่ปวดปัสสาวะ การทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น เดิน, วิ่ง, ไอ, จาม, ออกแรงมาก ๆ ก็จะไปกระตุ้นให้ปัสสาวะเล็ด
วิธีการสังเกตง่าย ๆ ว่ามีอาการปัสสาวะเล็ดหรือไม่ สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ปัสสาวะเล็ดเมื่อทำการกลั้นปัสสาวะ
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นาน
- มีปัสสาวะไหลซึมออกมา โดยไม่รู้ตัว
- มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ๆ จนผิดสังเกต
โดยอาการปัสสาวะเล็ดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท รายละเอียด ดังนี้
ปัสสาวะราด (Urge Urinary Incontinence)
ปัสสาวะราด (Urgency Incontinence) เป็นอาการปัสสาวะเล็ด ที่เกิดจากกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน และมีกิจกรรมที่ไปกระตุ้นให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และเกิดปัสสาวะเล็ดได้ ยกตัวอย่างเช่น การถอดกางเกง, การเดิน หรือวิ่งไปเข้าห้องน้ำ หรือการออกกำลังกาย
ปัสสาวะเล็ด เนื่องจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence)
ปัสสาวะเล็ด เนื่องจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence) เป็นอาการปัสสาวะเล็ดที่เกิดจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ส่งผลให้อวัยวะที่ทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งกิจกรรมที่จะเป็นแรงดันในช่องท้องก็จะมี การไอ และการจาม
ปัสสาวะล้น (Overflow Urinary Incontinence)
ปัสสาวะล้น (Overflow Urinary Incontinence) เป็นภาวะปัสสาวะเล็ดที่เกิดจากปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมีมากเกินไป และกระเพาะปัสสาวะขาดความสามารถในการบีบตัว ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นปัญหาด้านกายวิภาค ยกตัวอย่างเช่น ต่อมลูกหมากโต, ท่อปัสสาวะตีบ หรือเป็นโรคเบาหวาน
ปัสสาวะเล็ดราด (Mixed Urinary Incontinence)
เป็นอาการที่มีจุดที่เหมือนกับปัสสาวะเล็ด (Stress Urinary Incontinence) แต่ผู้ที่มีอาการปัสสาวะเล็ดราดแบบ (Mixed Urinary Incontinence) ท่อปัสสาวะจะไม่สามารถปิดได้สนิท จากผู้ที่ไอแล้วฉี่เล็ดแบบเล็กน้อย จะกลายเป็นอาการปัสสาวะราด
การรักษาอาการปัสสาวะเล็ด
มาที่วิธีแก้ปัสสาวะเล็ด ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นสาเหตุของปัสสาวะเล็ดนั้นมีอยู่หลายข้อ เมื่อทราบแล้วว่าสาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ดของตนเกิดจากอะไร ขั้นถัดไปก็คือการเลือกรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
1. ผู้ที่ไอจนฉี่เล็ด หรือมีปัสสาวะเล็ดจากแรงดันช่องท้อง
สำหรับสาเหตุข้อนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ วิธีการรักษาที่เหมาะสม คือ การบริหารด้วยตนเอง โดยการฝึกขมิบ โดยกลั้นไว้ครั้งละ 10 วินาที จากนั้นคลายออก โดยทำซ้ำจำนวน 30 ครั้ง โดยใน 1 วันทำ 3 เวลา เช่น เช้า กลางวัน เย็น ซึ่งจะเป็นการบริหารหูรูดของท่อปัสสาวะ และช่วยให้สามารถกลั้นปัสสาวะได้ดียิ่งขึ้น
2. ผู้ที่ปัสสาวะเล็ดจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน
การลดลงของฮอร์โมนประเภทนี้ จะส่งผลให้เยื่อบุช่องคลอดฝ่อตัว และแห้งซึ่งนำไปสู่อาการปัสสาวะเล็ดผู้หญิง โดยวิธีการรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยฝึกขมิบกล้ามเนื้อเชิงกราน โดยทำการขมิบครั้งละ 10 วินาที จากนั้นคลายออก โดยทำซ้ำ 8 - 12 ครั้ง โดยใน 1 วันทำ 3 เวลา
หรือจะเลือกวิธีรักษากับแพทย์เพื่อให้เป็นผลเร็วขึ้น โดยสามารถรักษาได้ด้วยการสอดขั้วไฟฟ้าที่มีกำลังอ่อนเข้าไปบริเวณช่องคลอด เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานได้ดียิ่งขึ้น
3. ความผิดปกติของระบบประสาท หรือมีปัจจัยที่ทำให้ไปห้องน้ำได้ช้า ทำให้ปัสสาวะเล็ด
ขั้นต้นที่สามารถทำได้ คือ ปรับพฤติกรรมในการดื่มน้ำ ไม่ดื่มน้ำต่อครั้งเป็นปริมาณมาก แต่พยายามจิบเรื่อย ๆ เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นาน หรือจะเลือกวิธีการรักษาด้วยการรับประทานยาแอนติโคลิเนอร์จิก เพื่อช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
ซึ่งหากการยาแล้วยังไม่ได้ผล ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น
- ใส่ยาตรงเข้ากระเพาะปัสสาวะโดยตรง เพื่อยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- ทำการผ่าตัดเพื่อช่วยเสริมแรงต้านให้กับท่อปัสสาวะ ช่วยให้การทำงานของท่อปัสสาวะดีขึ้น
- ใส่อุปกรณ์ซึ่งทำจากวัสดุสังเคราะห์ เพื่อช่วยแขวนท่อปัสสาวะส่วนกลาง
- การฝังเข็มโดยใช้ไฟฟ้าที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วน lumbosacral region ประมาณ 1-8 ครั้งใน 72 ชม. เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ และเมื่ออาการดีขึ้นก็ให้รักษาต่อวิธีเดิมแต่เป็น 2 ครั้งใน 72 ชม. อีก 6 สัปดาห์
- การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยระยะเวลาการรักษาอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์
ซึ่งวิธีการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดเหล่านี้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และให้แพทย์เป็นผู้ประเมินเพื่อตัดสินใจว่าควรใช้วิธีการรักษาแบบไหน
ปัสสาวะเล็ดป้องกันอย่างไร
วิธีแก้ปัสสาวะเล็ดที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน โดยปัสสาวะเล็ดนั้นสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกชา, กาแฟ, น้ำอัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ปัสสาวะเล็ดได้
- หากมีอาการไอ จามเรื้อรังควรรีบทำการรักษา เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้ปัสสาวะเล็ดได้
- อาการท้องผูกก็เป็นอีกปัจจัยที่ให้ปัสสาวะเล็ด ดังนั้นควรรีบรักษาหากมีอาการท้องผูก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน นาน 30 นาทีเป็นอย่างน้อยต่อครั้ง และหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อช่วยให้หูรูดบริเวณท่อปัสสาวะทำงานได้ดีขึ้น
- สำหรับผู้สูงอายุ พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปัสสาวะเล็ด ยกตัวอย่างเช่น ยกของหนัก
- เลิกสูบบุหรี่
- ทำการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับ เพราะโครงสร้างร่างกายขนาดใหญ่ หรืออ้วน จะไปบีบอัดกระเพาะปัสสาวะส่งผลทำให้เกิดอาการฉี่เล็ด
- ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ
สรุปเรื่องอาการปัสสาวะเล็ด
ปัสสาวะเล็ดเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มีโอกาสเกิดได้มากกับผู้สูงอายุ มันเป็นภาวะที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น แต่เราไม่สามารถควบคุมร่างกาย รวมไปถึงปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้ฉี่เล็ดได้
ดังนั้นการฝึกขมิบ บริหารกล้ามเนื้อเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะสามารถลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ แต่ถ้าไม่สามารถรักษาได้หายสนิทก็ควรหาวิธีอื่น ๆ รับมือ ไม่ว่าจะเป็นการพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา แต่สำหรับเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายอาจไม่อำนวยให้ไปห้องน้ำได้ทัน การใช้ผ้าอ้อม หรือแพมเพิสก็เป็นสิ่งที่ดีและช่วยแก้ปัญหาฉี่เล็ดจนทำให้กางเกงเลอะได้
อย่างไรก็ตามปัสสาวะเล็ดสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน หากรู้สึกปวดก็ควรรีบไปห้องน้ำ ไม่ใช่เพื่อป้องกันฉี่เล็ดอย่างเดียว แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย
โพสตอบ
* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเโพสตอบได้