แม่หยั่วเมือง

6.0

เขียนโดย Bush

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 13.26 น.

  4 ตอน
  0 วิจารณ์
  6,752 อ่าน

แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 20.08 น. โดย เจ้าของนิยาย

แชร์นิยาย Share Share Share

 

3) ตะเลงพ่าย

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

ขณะที่พราหมณ์ผู้ทำพิธีและผู้ชำนาญไสยศาสตร์ ทำพิธีเบิกประตูป่าและพิธีละว้าเซ่นไก่ หลวงมหาวิชัยรับพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ไปทำพิธีตัดไม้ข่มนามตามไสยศาสตร์ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสดับเสียงปืนซึ่งไทยกับมอญกำลังยิงต่อสู้กันอยู่ แต่เสียงนั้นอยู่ไกลฟังไม่ถนัด จึงรับสั่งให้หมื่นทิพเสนารีบไปสืบข่าว หมื่นทิพเสนาขึ้นม้าไปอย่างรวดเร็ว ถึงกองทัพไทยที่กำลังล่าถอย รับพลางถอยพลาง มอญตามมาอย่างกระชั้นชิด หมื่นทิพเสนาได้นำขุนหมื่นผู้หนึ่งมาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร ขุนหมื่นผู้นั้นกราบทูลว่า เมื่อเวลา ๗ นาฬิกา ทัพไทยได้ปะทะกับทัพมอญที่ตำบลโคกเผาข้าว ทัพไทยต้องถอยร่นอยู่ตลอดเวลา เพราะกำลังข้าศึกมีมากกว่า สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปรึกษาแม่ทัพนายกองว่าควรคิดหาอุบายแก้ไขการศึกษาอย่างไร บรรดาแม่ทัพนายกองกราบทูลขอให้พระองค์ส่งทัพไปยันไว้ ให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงก่อนจึงเสด็จยกทัพหลวงออกต่อสู้ภายหลัง สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า ทัพไทยกำลังแตกพ่ายอยู่ ถ้าจะส่งทัพไปต้านทานอีก ก็จะพลอยแตกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ควรที่ล่าถอยลงมาโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อลวงข้าศึกให้ละเลิงใจ ยกติดตามมาไม่เป็นขบวนพอได้ทีให้ยกกำลังส่วนใหญ่ออกโจมตี ก็คงจะได้ชัยชนะอย่างง่ายดาย” แม่ทัพนายกองเห็นชอบด้วยกับพระราชดำรินั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชามาตย์ไปแจ้งทัพหน้าของไทยให้ล่าถอยโดยเร็ว ทัพหน้าไทยจึงรีบถอยร่น ทัพพม่าไม่รู้กลอุบาย ก็รุกไล่ตามจนเสียกระบวน

ขณะสมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกย เพื่อรอพิชัยฤกษ์เคลื่อนทัพหลวง ได้บังเกิดเมฆก้อนใหญ่เย็นเยือกลอยอยู่ทางทิศ พายัพ แล้วก็กลับแลดูท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง ดวงอาทิตย์ส่องแสงจ้าโดยไม่มีอะไรบดบัง อันเป็นนิมิตที่แสดงพระบรมเดชานุภาพและชี้ให้เห็นความมีโชคดี สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพลตาม เกล็ดนาค ตามตำราพิชัยสงคราม จนปะทะเข้ากับกองทัพข้าศึก ช้างพระที่นั่งทั้งสอง คือ พระเจ้าไชยานุภาพ และ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ได้สดับเสียง ฆ้อง กลอง และเสียงปืนของข้าศึก ก็ส่งเสียงร้องด้วยความคึกคะนอง เพราะกำลังตกมัน ควาญบังคับไว้ไม่อยู่ มันวิ่งไปโดยเร็ว จนทหารในกองตามไม่ทัน มีแต่กลางช้างและควาญช้างสี่คนเท่านั้นที่ตามเสด็จไปด้วยจนเข้าไปใกล้กองหน้าของข้าศึก ช้างศึกได้กลิ่น มัน ก็พากันตกใจหนีไปปะทะกับพวกที่ตามมาข้างหลัง ช้างทรงไล่แทงช้างของข้าศึกอย่างเมามัน ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ข้าศึกยิงปืนเข้าใส่ แต่ไม่ถูกช้างทรง การต่อสู้เป็นแบบตะลุมบอนจนฝุ่นตลบมองหน้ากันไม่เห็น เหมือนกับเวลากลางคืน 

สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสประกาศแด่เทวดาทั้งหลายบนสวสรรค์ทั้งหกชั้น และพรหมทั้งสิบหกชั้นว่า ที่ให้พระองค์ท่านมาประสูตรเป็นพระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติก็ด้วยหวังจะให้ทะนุบำรุงศาสนา และพระรัตนตรัยให้เจริญรุ่งเรือง เหตุใดเล่าเทวดาจึงไม่บันดาลให้ท้องฟ้าสว่างมองเห็นข้าศึกได้ชัดเจน พอดำรัสจบไม่นานก็เกิดพายุใหญ่พัดหอบเอาฝุ่นและควันหายไป ท้องฟ้าสว่างดังเดิม มองเห็นสนามรบได้ชัดเจน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงช้างประทับยืนอยู่ใต้ต้นไม้ข่อย มีทหารห้อมล้อมและตั้งเครื่องสูงครบครัน ทั้งสองพระองค์ทรงไสช้างเข้าไปหาด้วยพระพักตร์ที่ผ่องใสไม่เกรงกลัวแม้แต่น้อย ข้าศึกยิงปืนไฟเข้ามาแต่ก็มิได้ต้องพระองค์เลย

สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชดำรัสอันไพเราะไม่มีสุรเสียงขุ่นแค้นพระทัยเลยแม้แต่น้อยว่า 

“ ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งประเทศมอญ พระเกียรคิยศเลื่องลือไปไกลทั่วทั้งสิบทิศ ข้าศึกได้ยินก็เกรงพระบรมเดชานุภาพ ไม่กล้าสู้รบพากันหนีไป พระเจ้าผู้พี่ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง เป็นการไม่สมควรเลยที่พระเจ้าพี่ประทับอยู่ใต้ร่มไม้ เชิญพระองค์เสด็จมาร่วมทำยุทธหัตถีร่วมกัน เพื่อแสดงเกียรคิไว้ให้เป็นที่ปรากฏ ต่อจากเราทั้งสองจะไม่มีอีกแล้ว การรบด้วยการชนช้างจะถึงที่สุดเพียงนี้ ต่อไปจะไม่ได้ไม่พบอีก การที่กษัตริย์ทำยุทธหัตถีกัน ก็คงมีแต่เราสองพี่น้อง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย การทำยุทธหัตถีก็เปรียบประดุจการเล่นที่รื่นเริงของกษัตริย์เพื่อให้ชมเล่นเป็นขวัญตาแก่มนุษย์จนถึงเมืองสวรรค์ ขอทูลเชิญเทวดาและพรหมทั้งปวงมาประชุมในสถานที่นี้เพื่อชมการยุทธหัตถี ผู้ใดเชี่ยวชาญกว่า ขอทรงอวยพรให้ผู้นั้นรับชัยชนะ  หวังจะให้พระเกียรติยศในการรบครั้งนี้ดำรงอยู่ชั่วฟ้าดิน ว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้กระทำสงครามกัน ใครรู้เรื่องก็จะได้ยกย่องสรรเสริญกันตลอดไป ” 


เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ตรัสพรรณนาดังนั้น พระมหาอุปราชาได้ทรงสดับก็บังเกิดขัตติยะมานะกล้าหาญขึ้น รีบไสช้างเข้าต่อสู้โดยเร็วด้วยความกล้าหาญ ช้างทรงของผู้เป็นใหญ่ทั้งสองพระองค์ เปรียบเหมือนช้างเอราวัณและช้างคิรีเมขล์อันเป็นพาหนะของวัสวดีมาร ต่างส่ายเศียรและหงายงาโถมแทงอยู่ขวักไขว่  สองกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่งามเลิศล้ำน่าชมยิ่งหนัก ประหนึ่งพระอินทร์และไพจิตราสูรทำสงครามกัน หรือไม่ก็เหมือนกับพระรามรบกับทศกัณฐ์ กษัตริย์อื่นในทุกประเทศและทุกทิศไม่เสมอเหมือน กษัตริย์แห่งกรุงสยามก็สามารถต้านพระมหาอุปราชาได้ ทั้งสองไม่ทรงเกรงกลัวกันเลย และไม่ได้ลดความห้าวหาญลงแม้แต่น้อย พระหัตถ์ก็ยกพระแสงของ้าวขึ้นกวัดแกว่งตามแบบฉบับ  ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรโถมเข้าใส่ไม่ทันตั้งหลักยั้งตัว ช้างทรงของพระมหาอุปราชาได้ล่างใช้งาทั้งคู่ค้ำคางเจ้าพระยาไชยานุภาพแหงนสูงขึ้น จึงได้ทีถนัด พระมหาอุปราชาเห็นเป็นโอกาส จึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างแรงราวกับจักรหมุน แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระมาลาหลบพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดเสียทัน อาวุธของพระมหาอุปราชาจึงไม่ถูกพระองค์ 

ทันใดนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเบนสะบัดได้ล่าง จึงใช้งางัดคอช้างของพระมหาอุปราชาจนหงาย ช้างของพระมหาอุปราชาเสียท่าต้องถอยหลังพลาดท่าในการรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเงื้อพระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาที่พระอังสาขวาขาดสะพายแล่ง พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันจนเป็นรอยแยก พระวรกายก็เอนซบอยู่บนคอช้างเป็นที่น่าสลดใจ สิ้นพระชนม์แล้วได้ไปสถิตในแดนสวรรค์   ควาญช้างของสมเด็จพระนเรศวร คือ นายมหานุภาพก็ถูกปืนข้าศึกเสียชีวิต ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำยุทธหัตถีกับ มางจาชโร (พระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา) พระเอกาทศรถได้ใช้พระแสงของ้าวฟันถูกมางจาชโรตายซบอยู่บนหลังพลายพัชเนียรนั่นเอง และกลางช้างของพระเอกาทศรถ คือ หมื่นภักดีศวรก็ถูกปืนข้าศึกตาย ทั้งสองพระองค์รบกับข้าศึกในครั้งนี้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ เพราะมีแค่ทหารสี่คนและพระองค์ทั้งสองเท่านั้น พระเกียรติจึงแผ่ไปไกล ทหารที่ติดตามไปตายสองและรอดกลับมาสองกองทัพไทยติดตามมาทันเมื่อพระมหาอุปราชาขาดคอช้างแล้ว ต่างก็รีบเข้ามาช่วยรบ ฆ่าฟันทหาร พม่า มอญ ไทยใหญ่ ลาว เชียงใหม่ ตายลงจำนวนมากเหลือคณานับ ที่เหลือบุกป่าฝ่าดงหนีไป ทั้งนี้เป็นพระบรมเดชานุภาพของพระองค์โดยแท้

สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้สร้างสถูปสวมทับที่พระองค์ทรงทำยุทธหัตถี ณ ตำบลตระพังตรุ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสืบต่อไป  เสร็จศึกยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เจ้าเมือง มล่วน รวมทั้งควาญช้างกลับ ไปแจ้งข่าวการแพ้สงครามและการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาแก่พระเจ้าหงสาวดี แล้วพระองค์ก็ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ชื่อเสียงของกรุงศรีอยุธยาก็ลือเลื่องไปทั้งแผ่นดิน จากนั้นก็ทรงปรารภเรื่องการพระราชทานความดีความชอบแก่ พระยารามราฆพ ( กลางช้างของพระนเรศวร ) และ ขุนศรีคชคง ( ควาญช้างของพระเอกาทศรถ ) โดยพระราชทานบำเหน็จ เครื่องอุปโภค เงิน ทอง ทาส และเชลยให้แล้วก็พระราชทานบำนาญแก่บุตรภรรยาของ นายมหานุภาพ และ หมื่นภักดีศวร ที่เสียชีวิตในสงครามให้สมกับความดีความชอบและที่มีความภักดีต่อพระองค์ 

ต่อมาก็ทรงปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทันตามกฎของพระอัยการศึกว่า ในการที่ข้าศึกยกทัพเข้ามาเหยียบแดนถึงชานพระนคร พระองค์และพระเอกาทศรถทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเหล่าสมณพราหมณ์และประชาราษฎรมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จออกไปปราบอริราชศัตรู แต่แม่ทัพนายกองทั้งปวงกลับกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระอาญา ไม่พยายามยกไปรบให้ทัน ปล่อยให้ทั้งสองพระองค์ทรงช้างพระที่นั่งฝ่าเข้าไปท่ามกลางข้าศึกตามลำพัง จนถึงได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ลูกขุนได้เชิญกฎพระอัยการออกค้นดู เห็นว่าจะได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากใกล้วัน ๑๕ ค่ำ ( บัณรสี ) จึงทรงพระกรุณางดโทษไว้ก่อน ต่อวันหนึ่งค่ำ (ปาฏิบท)จึงให้ลงโทษประหาร  

ยังไม่พ้นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกำหนดไว้ พอถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เวลาประมาณ ๘ นาฬิกาเศษ สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะ ๒๕ องค์สองแผนก คือ ฝ่ายคามวาสี และ อรัญวาสี พากันไปยังพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้นิมนต์เข้าไปในท้องพระโรง สมเด็จพระนเรศวรทรงประนมพระหัตถ์แสดงคารวะ พระวันรัตได้ทูลถามข่าวที่สมเด็จพระนเรศวรทำยุทธหัตถีจนพระมหาอุปราชาขาดคอช้าง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงเล่าจบ พระวันรัตกราบทูลว่า พระมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงได้รับชัยชนะ เหตุใดเล่าเหล่าบริพารจึงต้องโทษ ได้ยินแล้วที่สงสัย สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสต่อไปว่า แม่ทัพนายกองทั้งปวงซึ่งได้รับเกณฑ์เข้าในกองทัพ เมื่อเห็นข้าศึกก็ตกใจกลัว ยิ่งกว่ากลัวพระองค์ซึ่งเป็นเจ้านาย ไม่ตามเสด็จให้ทัน ปล่อยให้พระองค์สองพี่น้องเข้าสู้รบท่ามกลางข้าศึกจำนวนมากจนมีชัยชนะรอดพ้นความตายจึงได้มาดูหน้าพวกทหารเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะคุณความดียิ่งใหญ่ที่ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองไว้คอยอุดหนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์สองพี่น้อง ถ้าไม่ได้ความดีแต่เก่าแล้ว ประเทศไทยจะต้องสิ้นอำนาจเสียแผ่นดินแก่กรุงหงสาวดีเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ จึงควรลงโทษถึงตายตามพระอัยการศึกเพื่อให้เป็นตัวอย่างมิให้คนอื่นเอาเยี่ยงอย่างสืบไป 

 

สมเด็จพระวันรัตจึงกราบทูลว่า “ บรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนมีความจงรักภักดี เป็นการผิดแปลกไปจากแบบแผนแต่ก่อนที่ว่าไม่จงรักยำเกรงพระองค์ ทั้งนี้เพราะพระบรมเดชานุภาพสำแดงให้ปรากฏแก่ปวงชนเป็นที่น่าอัศจรรย์จึงบันดาลให้เป็นเช่นนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( พระตรีโลกนาถ ) ทรงชนะพระยามารลำพังพระองค์เอง เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ เสด็จไปปราบอริราชศัตรูจนแพ้พ่ายโดยปราศจากไพร่พล พระเกียรติยศจึงเลื่องลือกึกก้องไปทั่วทุกแห่งหน หากมีทหารล้อมมากมายถึงเอาชนะได้ พระเกียรติยศก็ไม่ฟุ้งเฟื่องเพิ่มพูนขึ้น และกษัตริย์ทั้งหลายก็จะไม่พากันออกพระนามเอิกเกริกกันเช่นนี้ขอพระองค์ทั้งสองอย่าได้โทมนัสน้อยพระทัยไปเลย ทั้งนี้เพราะเพื่อราชกฤฎาภินิหารของพระองค์ ทวยเทพทั้งหลายจึงบันดาลให้เป็นไปดังนั้น ขอมหาบพิตรทั้งสองพระองค์ อย่าได้ทรงขุ่นแค้นพระทัยไปเลย ทั้งนี้เป็นไปตามที่กราบทูลทุกประการ ” 


สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังพระวันรัตถวายวิสัชนาบรรยายโดยพิสดารโดยวิธีเปรียบเทียบกับกฤฎาภินิหารแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงปราโมทย์ ออกพระโอษฐ์สาธุถวายนมัสการแล้วตรัสว่าพระวันรัตกล่าวคำน่าขอบใจ ทุกสิ่งที่ชี้แจงสมควรและเป็นจริงไม่สงสัยแม้แต่น้อย

 
พระวันรัตเห็นว่าทรงคลายกริ้วแม่ทัพนายกองแล้ว จึงกล่าวถวายพระพรให้พระองค์ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง แล้วกราบทูลต่อไปว่า แม่ทัพนายกองเหล่านี้มีความผิดรุนแรง   
ควรได้รับโทษทั้งโคตร แต่เคยได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระบรมราชอัยกา และสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดา จนล่วงถึงสมเด็จพระนเรศวรได้ขึ้นครองราชสมบัติ เปรียบได้กับพุทธบริษัททั้งปวง ช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาต่อมา

ขอให้พระองค์ทรงงดโทษประหารชีวิตแม่ทัพนายกองไว้สักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นกำลังส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพ เมื่อศึกสงครามเกิดขึ้นอีก เขาเหล่านั้นจะคิดแก้ตัว หาความดีความชอบเพื่อเพิ่มพูนพระบารมีให้แผ่ไปทั่วบ้านเมืองชองพระองค์เป็นแน่

สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสดับข้อความของพระวันรัตที่ทูลขออภัยบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งปวง ก็ทรงพระกรุณาที่ว่าบุคคลเหล่านี้ยังจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่ จึงพระราชทานอภัยโทษตามคำทูลของพระวันรัต แต่ทรงเห็นสมควรที่จะใช้ให้ไปตีเมืองตะนาวศรี ทวาย และ มะริด เป็นการชดเชยความผิด สมเด็จพระวันรัตกราบทูลว่า การรบทัพจับศึกไม่ใช่กิจอันควรที่พระภิกษุจะเห็นด้วย พระองค์จะทรงมีพระราชบัญชาใช้สอยประการใดสุดแล้วแต่พระราชอัธยาศัย แล้วสมเด็จพระวันรัตถวายพระพรลา พาคณะสงฆ์กลับวัด สมเด็จพระนเรศวรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพนายกองพ้นโทษและคงดำรงตำแหน่งยศเดิม

สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชกำหนดให้ เจ้าพระยาคลังคุมทหาร ๕๐,๐๐๐ คน ไปตีเมืองทวาย ให้เจ้าพระยาจักรีคุมทัพจำนวนรี้พลเท่ากันไปตีเมือง มะริด และ ตะนาวศรี มหาอำมาตย์ทั้งสองกราบถวายบังคมลาไปเตรียมทัพยกไปทันที แล้วทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชดำรัสถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือว่าไทยได้กวาดต้อนครอบครัวเข้ามาจำนวนมากแต่ยังไม่หมดทรงมีพระราชดำริว่าถึงศึกพม่า มอญว่าคงจะลดลงถึงจะยกมาก็คงไม่น่ากลัว ควรจะได้ทะนุบำรุงหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ให้รุ่งเรืองปรากฏเป็นเกียรติยศสืบต่อไปชั่วกัลปาวสาน

 

 

คำยืนยันของเจ้าของนิยาย

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
6 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
6 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
6 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

อ่านนิยายเรื่องอื่น

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา