มหัศจรรย์แห่งหนังสือ

8.7

เขียนโดย candle

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 17.43 น.

  9 chapter
  34 วิจารณ์
  32.79K อ่าน

แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557 16.01 น. โดย เจ้าของเรื่องสั้น

แชร์เรื่องสั้น Share Share Share

 

8) โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล

อ่านบทความตามต้นฉบับ อ่านบทความเฉพาะข้อความ

 

โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล

 

                         

          

          เขาว่ากันว่าหนังสือเล่มเล็กเล่มนี้เป็นนิยายเชิงปรัชญาเล่มหนึ่ง และได้อ่านก็เพราะความบังเอิญ อีกทั้งหนังสือก็บางจ้อยคงไม่ยากที่ระดับสติปัญญาอย่างฉันจะอ่านได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนการตีความนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (อันนี้ขึ้นอยู่กับติปัญญาอีกเช่นเดียวกัน) ต้องยอมรับว่าฉันอ่านหนังสือในขณะที่ระดับสติปัญญายังไม่พร้อมมากมายหลายเล่ม คือพ้นจากระดับประถมฉันก็ตะลุยอ่าน ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหนังสือมีอยู่ที่บ้านแล้วเป็นบางเล่มจะเป็นพ่อที่ซื้อหามา หรือไม่ก็เป็นพี่ชาย หรือหนังสือบางเล่มเราต่างไม่รู้ที่มาด้วยซ้ำว่ามันมาอยู่ในบ้านได้อย่างไร ใครเป็นคนหามา (ซึ่งไม่สำคัญ) จะอะไรแนวไหนยังไงไม่รู้หรอกอ่านมันอย่างเดียวเท่านั้น และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะในห้องสมุดโรงเรียนมีให้อ่าน ฉันยังคงรูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงมัธยมกับตอนเรียนชั้นประถม คือขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด และปลายสัปดาห์ก็จะยืมหนังสือกลับบ้านเท่าที่เขาอนุญาติให้ยืมได้

 

          “สองวันเองจะอ่านหมดนี่เลยเหรอ” คุณครูบรรณารักษ์ก็จะถามแบบนี้แหละเป็นประจำ

          “หมดค่ะ สบายมาก” ก็นะลูกสาวคนเดียวของบ้าน ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไรอยู่แล้วนอกจากทำการบ้านกับอ่านหนังสือ จานชามไม่ต้องล้าง เสื้อผ้านักเรียนไม่ต้องซักรีดทั้งหมดเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ทั้งนั้น เช่นนี้ฉันจึงใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทให้กับการอ่านอย่างเต็มที่ แค่หนังสือที่ฉันทุ่มเทอ่านกลับไม่ใช่หนังสือเรียนเท่านั้นเอง ฉันว่าหากฉันทุ่มเทการอ่านหนังสือเรียนเช่นเดียวกับการอ่านหนังสือประเภทอื่นระดับผลการเรียนคงดีไม่น้อยนะ

 

          การอ่านโจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ในครั้งแรกก็ไม่ได้ให้ความหมายกับฉันมากนัก มันก็แค่เรื่องราวของนกนางนวล ‘หัวเน่า’ ตัวหนึ่งผู้รักในการบินก็แค่นั้น และฉันก็จดจำเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นไม่ได้อีกด้วย ไม่เหมือนกับตอนที่อ่าน ‘เจ้าชายน้อย’ ฉันอ่านเจ้าชายน้อยก่อนตั้งหลายปีขณะยังเรียนอยู่ชั้นประถมด้วยซ้ำไป แต่ฉันจำฉากการทำให้เชื่องได้มาจนทุกวัน อาจเพราะสำหรับเด็กแล้วเจ้าชายน้อยให้อารมณ์ของเรื่องที่เข้าถึงได้มากกว่า เพราะมันเหมือนนิทานเรื่องหนึ่ง ขณะโจนาทานเป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับวัยแสวงหา ถึงจะเข้าใจความหมายของมันได้มากกว่าเด็กที่เพิ่งจะก้าวพ้นประถม

 

          เคยเป็นเหมือนกันไหม บางครั้งเมื่ออ่านหนังสือสักเล่มฉันกลับนึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าแรกเริ่มเดิมทีผู้เขียนตั้งใจจะเขียนให้ตีความเชิงปรัชญาจริงหรือ (ไม่ใช่เฉพาะหนังสือเล่มนี้) หรือแท้จริงแล้วผู้อ่านเป็นคนตีความไปเองในส่วนรวมของเนื้อเรื่องความหมายแห่งนัยยะของประโยคบางประโยคที่ผู้อ่านค้นพบ ฉันเข้าใจว่าผู้อ่านแต่ละคนค้นพบสิ่งที่มีความหมายสำหรับตนเองแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิต ขึ้นอยู่กับทักษะความเข้าใจ ตีความในประโยคเรียบง่ายให้มีความหมายขึ้น มันคงตลกดีหากผู้เขียนคนใดคนหนึ่งบอกว่า...เปล่าเลย หนังสือเล่มนั้นไม่ได้ตั้งใจเขียนในเชิงปรัชญา แค่เขียนในสิ่งที่อยากจะเขียนไม่ได้ตั้งใจให้ล้ำลึกหรือเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์แต่ประการใด...

 

          โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล เขียนโดย ริชาร์ด บาก

          แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

          หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของนกนางนวลหนุ่มชื่อ โจนาทาน ลิฟวิงสตัน ผู้รักการบินเหนือสิ่งอื่นใด ว่ากันว่าโดยธรรมชาติของนกนางนวลแล้วไม่พะวงกับการเรียนรู้เรื่องการบินมากไปกว่าการบินแบบง่ายๆ คือบินออกจากฝั่งไปหากินแล้วก็บินกลับ สำหรับนางนวลแล้วโดยทั่วไปการกินสำคัญกว่าการบิน ขณะโจนาทานฝึกการบินในท่าต่างๆ ทุกวันโดยไม่สนใจการกิน

 

          “ผมเข้าใจว่าโจนาทานคงจะให้แรงบันดาลใจในการแสวงหาของคนหนุ่มสาว โจนาทานมีวิญญาณเสรี พยามที่จะค้นพบตนเองและสัจจะ...เข้าใจว่าวิญญาณเสรีนี้กระมังที่ต้องใจหนุ่มสาวในวัยของการแสวงหา ยิ่งสังคมสับสนซับซ้อนมากขึ้นเพียงใด ผู้คนก็ต้องการความคิดที่จะเป็นเครื่องประกอบในการดำรงชีวิตของคนมากขึ้นเท่านั้น”/ จากบทคำนำของผู้แปล

 

          หนุ่มสาววัยแสวงหาในยุคก่อนหน้านี้อาจจะมีอยู่จริงๆ แต่เวลานี้ปัจจุบันนี้ฉันกลับคิดว่าอารมณ์ประมาณนั้นหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นจนแทบไม่มีอีกแล้ว (หรือเปล่า) ยุคสมัยมันแตกต่างกันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือสถาบันครอบครัวที่เปิดกว้างขึ้น ยอมรับความคิดนอกกรอบมากขึ้น และความคิดนอกกรอบก็ไม่ได้กลายเป็น ‘ตัวหัวเน่า’ อีกต่อไปแล้ว ซึ่งย่อมเป็นสิ่งดีในการพัฒนาระบบความคิดที่เปลี่ยนไป อันนี้ถือได้ว่าสังคมเราพัฒนาไปได้อีกขั้นหนึ่งแล้วเหมือนกัน

 

หนังสือเล่มนี้แบ่งส่วนออกเป็น 3 ภาค

          ภาคแรก

 

          เป็นการบอกเล่าถึงนางนวลผู้แปลกแยกคิดแตกต่างจากนกนางนวลตัวอื่นในฝูง ซึ่งก็คือ ‘โจนาทาน ลิฟวิงสตัน’ ผู้นำความระอาและแสนจะเบื่อหน่ายมาสู่พ่อ-แม่ และเหล่านางนวลทั้งฝูง มันจึงกลายเป็นตัว ‘หัวเน่า’ ในที่สุดเพียงเพราะ...

 

          “ทำไม มันยากนักรึที่จะทำตัวให้เหมือนนกอื่นๆ ในฝูง ทำไมแกไม่ปล่อยให้การบินระดับต่ำเป็นเรื่องของนกเพลิแกนหรือนกอัลบาทรอส”

 

          “แกจะต้องเรียนรู้เรื่องอาหารและก็หาอาหารกินให้ได้ เรื่องการบินก็ดีอยู่หรอก แต่แกก็น่าจะรู้ว่าการบินการร่อนกินเข้าไปไม่ได้ อย่าลืมว่าเหตุที่แกบินก็เพื่อเอาไว้หากิน”

 

          เพราะความกดดันของพ่อแม่ด้วยประโยคดังกล่าวและสังคมในหมู่ฝูงนก จึงมีบ้างเหมือนกันที่โจนาทานพยามทำตัวเหมือนนางนวลตัวอื่น ส่งเสียงร้อง สู้ ร่อนลงแย่งชิงเศษปลาและขนมปังกับฝูงที่ท่าน้ำ มันสบายใจขึ้นเมื่อได้ตัดสินใจเป็นนกเหมือนกับนกในฝูง แต่เพียงไม่กี่วันที่มันทำเช่นนั้นได้ มันกลับไปฝึกบินอีก

 

          ...โจนาทานเสียหลักกลางอากาศและตกลิ่วลงกระทบพื้นผิวทะเลที่แข็งราวกับอิฐ โจนาทานลอยตัวอยู่ในมหาสมุทร ปีกของมันหนักราวกับห่อหุ้มด้วยแท่งตะกั่วแต่...น้ำหนักของความล้มเหลวจะทับถมอยู่บนหลังมันมากกว่าสิ่งอื่นใด ถึงตอนนี้มันได้ยินเสียงของตัวเอง

 

          “ฉันเป็นแต่เพียงนางนวล ธรรมชาติได้สร้างฉันขึ้นมาอย่างจำกัด

          ถ้าฉันถูกสร้างมาให้เรียนรู้เรื่องการบินได้ ฉันควรต้องมีมันสมองมากมาย

          ถ้าฉันถูกสร้างขึ้นมาให้บินเร็วได้ ฉันก็น่าจะมีปีกสั้นอย่างนกเหยี่ยว และฉันก็ควรจะกินหนูแทนที่จะกินปลา

          ฉันต้องลืมเรื่องโง่ๆ นี้เสีย ฉันจะต้องบินกลับไปบ้านไปหาฝูงนกของฉัน และฉันควรจะต้องพอใจต่อสภาพของนกนางนวลที่นิ่งสงบและมีความสามารถจำกัดเช่นนี้”

 

          ทีนี้ก็จะไม่มีพันธะบังคับให้โจนาทานต้องเรียนรู้ ไม่มีความท้าทายหรือล้มเหลวอีกต่อไป...

 

          แล้วโจนาทานก็บินผ่านความมืด ความมืด!!! นางนวลไม่มีวันที่จะบินในความมืด! บินลงไปซะ! นางนวลไม่เคยบินในความมืด! ถ้าเธอถูกสร้างมาให้บินในความมืด เธอจะต้องมีตาเหมือนนกฮูก เธอจะต้องมีมันสมองมากมาย เธอจะต้องมีปีกสั้นเหมือนนกเหยี่ยว!

 

          นั่นคือคำตอบ สิ่งที่ต้องทำคือพับปีกไว้เสียให้เกือบหมดแล้วก็ใช้แต่เพียงปลายปีกเท่านั้นบิน! ปีกสั้น

 

          “ช่างมีค่าเหลือเกินที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในตอนนี้ ชีวิตมีความหมายมากขึ้นกว่าการบินอย่างเซ็งๆ กลับไปกลับมาจากเรือหาปลา เราสลัดความโง่เขลาทิ้งเสียได้ เราค้นพบได้ว่าเราเป็นสัตว์วิเศษฉลาดและรอบรู้ เราเป็นอิสระได้! เราเรียนรู้ที่จะบินได้!”

 

          ...ฉันเพียงแต่อยากเอาสิ่งที่ค้นพบมาเผยแพร่ร่วมกัน ฉันเพียงแค่อยากให้เราทุกตัวได้เห็นขอบน้ำกับฟ้าเบื้องหน้าโน้น...หากสิ่งที่โจนาทานได้รับคือคำสั่งของนกผู้ใหญ่ให้เข้าไปยืนตรงกลางเพื่อให้นกตัวอื่นๆ ได้เห็นความอับอาย

 

          “สักวันหนึ่งโจนาทาน...แกจะรู้ว่าการไร้ความรับผิดชอบไม่มีประโยชน์อะไร ชีวิตเป็นเรื่องลี้ลับและเรียนรู้ไม่ได้ เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงเพื่อกิน และพยามมีชีวิตอยู่ให้ยืนยาวเท่าที่เราจะทำได้” /คำพูดผู้ใหญ่นก

 

          “ใครกันแน่ที่จะมีความรับผิดชอบเท่ากับนกนางนวลตัวที่ค้นและติดตามความหมายซึ่งเป็นจุดประสงค์สูงส่งในชีวิต นับเป็นเวลาพันปีที่พวกเราได้แต่ตะกุยตะกายหาแต่ปลา แต่บัดนี้เรามีเหตุและผลที่จะดำรงชีวิตอยู่เพื่อเรียนรู้ เพื่อค้นหา และเพื่อเป็นอิสระ!”

 

          โจนาทานถูกขับออกจากฝูง มันไม่ได้เสียใจกับเรื่องที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เสียใจที่นางนวลตัวอื่นๆ ไม่ยอมเชื่อในความมหัศจรรย์ของการบิน

 

          สิ่งที่มันอยากให้ฝูงนกเรียนรู้กลายเป็นสิ่งที่มันเรียนรู้ไว้แต่เพียงตัวเดียว นางนวลโจนาทานค้นพบว่า ความเบื่อหน่าย ความกลัว ความโกรธเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตนกนางนวลสั้นยิ่งนัก และเมื่อสิ่งเหล่านี้สูญหายไปจากจิตใจของมัน โจนาทานก็มีชีวิตยืนยาวสดใสขึ้น

 

          พวกนี้มาถึงตอนพลบค่ำ มาพบโจนาทานบินร่อนอยู่เดียวดาย

          “เรามาเอาเธอไปที่สูงออกไป เอาเธอกลับบ้าน”

 

          ภาคสอง

 

          โจนาทานไปยังที่สูงออกไปยังอีกสถานที่หนึ่งที่ซึ่งติดต่อสนทนาด้วยกระแสจิตแทนการแหกปากตะโกนเจี๊ยวจ๊าว ที่นี่นางนวลที่รู้จักคิดเหมือนกับที่มันคิด สำหรับนกแต่ละตัวสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตคือการไขว่คว้าและสัมผัสความเป็นเลิศซึ่งพวกมันรักที่จะทำ สิ่งนั้นคือการบิน

 

          โจนาทานเกิดคำถามว่า...ทำไมพวกถึงไม่มีพวกเรามากกว่านี้อยู่ที่นี่...

 

          “เธอเป็นนกหนึ่งในล้านทีเดียว พวกเราส่วนมากมาที่นี่ช้าเหลือเกิน เราไปจากโลกหนึ่งสู่อีกโลกหนึ่งเกือบจะเหมือนกันทั้งหมด แล้วก็จะลืมที่ที่เราจากมาทันทีไม่สนใจว่าเราจะไปไหน เราอยู่เพื่อขณะใดขณะหนึ่ง เธอรู้ไหมว่าสักกี่ชาติที่เราต้องผ่านมาก่อนที่เราจะได้คิดเป็นครั้งแรกว่า ชีวิตมีความหมายมากกว่าการกิน การแย่งชิง หรืออำนาจในฝูงนก?...จนกระทั่งเราเริ่มเรียนรู้ว่ามีสิ่งที่มีความเป็นเลิศ และอีกหนึ่งร้อยชาติที่จะได้ความคิดความหมายในการดำรงชีวิตของเรา

          คือการแสวงหาความเป็นเลิศอันนั้นและเผยแพร่ต่อไป กฎเกณฑ์อย่างเดียวกันนี้ตกอยู่กับเราปัจจุบันแน่นอน เราเลือกโลกหน้าของเราจากสิ่งที่เราเรียนรู้จากโลกนี้ เมื่อไม่เรียนรู้อะไรโลกหน้าก็เป็นเหมือนโลกนี้ มีข้อจำกัดเหมือนกันและสร้างภาระให้ต้องเอาชนะ”/นางนวลซัลลิเวน

 

          “ความเป็นเลิศไม่มีขอบเขตความเร็วเลิศคือการไปถึงที่นั่น”

 

          “การบินให้เร็วเท่าความนึกคิด ไปที่ไหนก็ได้คือ...เธอต้องเริ่มด้วยความคิดที่ว่าเธอได้ไปถึงแล้ว”

 

          “เคล็ดลับคือจะต้องรู้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง”

 

          “ลืมความศรัทธาซะ! เธอไม่ต้องการศรัทธาเพื่อจะบิน เธอต้องการความเข้าใจในการบิน”

 

          “จนกระทั่งเธอสามารถบินอดีตและอนาคตได้ และเมื่อนั้นเธอจะได้พร้อมที่จะเริ่มสิ่งที่ยากที่สุด มีพลังที่สุด และสนุกที่สุด เธอจะพร้อมที่จะเริ่มบินขึ้น และรู้ถึงความหมายของความเมตตาและความรัก”

 

          “จงฝึกความรักเอาไว้”

 

          โจนาทานฝึกบทความเมตตาฝึกเรียนรู้ธรรมชาติของความรัก มันยิ่งอยากกลับไปยังโลกเก่า และหนทางที่มันจะเสนอความรักได้ก็คือความจริงบางประการที่มันได้พบเห็น ต่อนางนวลสักตัวที่ร้องขอแต่เพียงโอกาสที่จะค้นหาความจริงให้ตนเอง

 

          ในส่วนของภาคสองนี้คล้ายเป็นอีกระดับขั้นของการเรียนรู้ อีกระดับหนึ่งในการค้นพบด้วยตัวเอง ในเนื้อเรื่องบอกว่าเป็นโลกใหม่เป็นอีกโลกหนึ่ง โลกที่มีเพียงนกนางนวลบางตัวเท่านั้นที่สามารถไปถึงได้ โลกที่ใช้กระแสจิตในการสื่อสาร และใช้เพียงความคิดในการเดินทาง

 

          ภาคสาม

 

          โจนาทานกลับมายังฝูงฝึกสอนนางนวลหัวเน่าที่ถูกขับ

 

          “ร่างกายของเธอทั้งหมด จากปลายปีกหนึ่งสู่อีกปลายปีกหนึ่ง ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากความคิดของเธอเอง มันเป็นรูปร่างที่เธอมองเห็น เมื่อเธอตัดโซ่ตรวนออกจากความคิดได้ เธอก็จะตัดโซ่ตรวจนั้นออกจากร่างกายได้ด้วย”

 

          “เธอจะต้องฝึกที่จะมองเห็นนาลนวลที่แท้จริง ถึงความดีที่มีอยู่ในแต่ละตัว และช่วยให้เขามองเห็นสิ่งที่อยู่ในตัวเอง นั่นคือสิ่งที่หมายถึงความรัก”

 

          “สิ่งที่ยากที่สุดในโลกคือการที่จะทำให้นกตัวหนึ่งเชื่อว่าตนเป็นอิสระ และให้เขาเชื่อว่าเขาจะพิสูจน์ตัวเองได้”

 

          “อย่าเชื่อสิ่งที่ดวงตาของเธอกำลังบอกเธอ สิ่งที่มันบอกมีข้อจำกัด จงดูด้วยความเข้าใจ ค้นหาสิ่งที่เธอได้รู้มาแล้ว และเธอก็จะพบหนทางที่จะบิน”

 

          ในความคิดของฉัน (นักอ่านตัวจ้อยน้อยนิด) หนังสือเล่มนี้พูดถึงความรัก การให้อภัย และในฐานะเราผู้เป็นชาวพุทธหรือแม้จะเป็นศาสนาใดก็ตามย่อมสั่งสอนในสิ่งเดียวกัน คือเมื่อเราก้าวพ้นความความโกรธ เกลียด ความชิงชัง อันเป็นผลให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง จนสามารถอภัยให้ได้ด้วยความรักคุณก็จะบรรลุ อาจไม่ถึงขนาดนั้นแต่ก็สามารถปลดปล่อยตัวเองให้อยู่เหนือความคิดด้านลบเหล่านั้นได้ และโจนาทาน ลิฟวิงสตัน นาลนวลก็เป็นเช่นนั้น

 

          อภัยให้ฝูงนกนางนวล กลับไปสอนนางนวลตัวใหม่ในสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้มา ใช้ความรักเป็นเครื่องนำพา

 

          และในหนังสือเล่มนี้หลายสิ่งหลายอย่างที่สื่อออกมา แนวคิด คำสอน เหมือนกับเดอะซีเคร๊ตอีกเช่นกันอย่างไม่น่าเชื่อ แค่ใช้ความคิดกับความเชื่อว่าเราสามารถทำในสิ่งนั้นๆ ได้

 

          “การบินให้เร็วเท่าความนึกคิด ไปที่ไหนก็ได้คือ...เธอต้องเริ่มด้วยความคิดที่ว่าเธอได้ไปถึงแล้ว” และ

          “จงฝึกความรักเอาไว้”

 

          ถึงตอนนี้ฉันชักเริ่มเชื่ออย่างสนิทใจแล้วล่ะว่าความลับแห่งจักรวาลเป็นเรื่องจริง ที่หลายๆ คนในอดีตเคยค้นพบมาแล้วและพยามสื่อสารออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน หรือหากแม้เขาไม่เคยค้นพบมันแต่เมื่อแนวคิดที่นำเสนอสอดคล้องกัน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราควรเชื่อได้ว่าหากเรานำทฤษฏีเหล่านั้นมาปฏิบัติอย่างจริงจังได้เราก็สามารถทำบางสิ่งบางอย่างให้ประสบผลสำเร็จได้ เพียงเราจะเราด้วยความคิดที่ว่า...ไปถึงที่นั่นแล้ว

 

"จงค้นหาว่าเธอรักจะทำอะไร  และก็ทำสุดความสามารถให้บรรลุผลสำเร็จ"/ริชาร์ดบาก

 

          ทั้งหมดนี่ก็เป็นเพียงคนหนึ่งคนกับหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ได้อ่าน และพบเจอความหมายแห่งการสื่อสารได้ระดับหนึ่งไม่มากมายอะไร หลายคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้วการพบเจอความหมายอาจแตกต่างกันซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนที่ได้อ่าน

 

          สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน ก็หวังเพียงแค่ว่าเรื่องเล่าของ โจนาทาน ลิฟวิงตัน นางนวล จะสามารถสะกิดต่อมความนึกคิดหรือให้อะไรได้บ้าง และทั้งหมดที่ฉันจะพูดคือ ขอบคุณ ขอบคุณดวงตาของฉันที่สามรถมองเห็นถ้อยคำความหมายในการอ่าน ขอบคุณที่ฉันรักการอ่าน ขอบคุณนักเขียนที่เขียนเรื่องราวดีๆ ให้อ่าน ขอบคุณผู้อ่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่าน ขอบคุณค่ะ/ผู้แบ่งปันจินตนาการ

 

คำยืนยันของเจ้าของเรื่องสั้น

✓ เรื่องนี้เป็นบทความเก่า ยังไม่ได้ทำการยืนยัน

คำวิจารณ์

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถเขียนวิจารณ์ได้


รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
คำวิจารณ์เพิ่มเติม...

โหวต

เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ
8.3 /10
ความถูกต้องในการใช้ภาษา
9.9 /10
ภาษาที่ใช้น่าอ่าน
7.9 /10

* ต้องล็อกอินก่อนครับ ถึงสามารถโหวดได้


แบบสำรวจ

 

ไม่มีแบบสำรวจ

 

 
รอสักครู่กำลังโหลดข้อมูล
ข้อความ : เลือกเล่นเสียง
สนทนา